การวิเคราะห์ SWOT
การวิเคราะห์ SWOT
การวิเคราะห์ SWOT ประกอบด้วย
1. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน (S W)
สภาพแวดล้อมภายในประกอบด้วย ปัจจัยที่อยู่ภายในองค์กร ได้แก่ โครงสร้างวัฒนธรรม และทรัพยากรขององค์กร โครงสร้างจะแสดงให้เห็นถึงการรวมกลุ่มงาน ความสัมพันธ์ทางอำนาจหน้าที่ การไหลเวียนของงาน การติดต่อสื่อสารภายใน ซึ่งวัฒนธรรมองค์กร (Corporate culture) จะหมายถึงความเชื่อ ความคาดหวัง และค่านิยมร่วมกัน โดยทั่วไปจะปรากฏขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานที่ระบุถึงพฤติกรรมที่ยอมรับกันของบุคคลตั้งแต่ผู้บริหารลงมาจนถึงพนักงานระดับล่างสุด ส่วนทรัพยากรขององค์การ (Corporate resources) จะหมายถึง ทรัพย์สินทุกอย่างภายในองค์การ ได้แก่ คน เงินทุน วัตถุดิบ เทคโนโลยี และทักษะ เป็นต้น (วัฒนา วงศ์เกียรติรัตน์. 2546 : 127 – 128 และสมยศ นาวีการ. 2544 : 24 – 25) ซึ่งการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในประกอบด้วย
1.1) จุดแข็ง (Strengths) หมายถึง การดำเนินงานภายในองค์การที่ต้องวิเคราะห์การดำเนินงานภายใน เช่น การบริหรการเงิน การตลาด การวิจัยและพัฒนาเพื่อการพิจารณาถึงจุดแข็งของการดำเนินงานภายในเหล่านี้เป็นระยะ และใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของการดำเนินงานเหล่านี้อยู่เสมอ
1.2) จุดอ่อน (Weakness) หมายถึง การดำเนินงานภายในองค์กรที่ไม่สามารถกระทำได้ดี เช่น การบริหาร การเงิน การตลาด การวิจัยและพัฒนา จะเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จ
2. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก (OT)
สภาพแวดล้อมภายนอกประกอบด้วยปัจจัยที่อยู่ภายนอกและไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมระยะสั้นของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งสภาพแวดล้อมภายนอกจะมีอยู่สองส่วนคือ สภาพแวดล้อมการดำเนินงานและสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป สภาพแวดล้อมการดำเนินงาน (Task environment) จะประกอบด้วย ปัจจัยที่กระทบและถูกกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงาน ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่ ผู้มีส่วนได้เสีย รัฐบาล ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ชุมชน คู่แข่งขัน และกลุ่มผลประโยชน์
สภาพแวดล้อมโดยทั่วไป (General environment) จะประกอบด้วยปัจจัยที่ไม่กระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานระยะสั้น ปัจจัยเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจระยะยาวได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี การเมืองและกฎหมาย (สมยศ นาวีการ. 2544 : 24 – 25 และสุพานี สฤษฏ์วานิช. 2544 : 136) ซึ่งการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกประกอบด้วย
2.1) โอกาส (Opportunities) หมายถึง สภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานขององค์การ ซึ่งต้องคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี และการแข่งขันเพื่อการแสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเหล่านี้ เช่น การพัฒนาของคอมพิวเตอร์ การเปลี่ยนแปลงของประชากร และการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและทัศนคติ และการแข่งขันจากต่างประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจจะทำให้ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป
2.2) อุปสรรค (Treats) หมายถึง สภาพแวดล้อมภายนอกที่คุกคามต่อการดำเนินงานขององค์การ สภาพแวดล้อมเหล่านี้ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยีและการแข่งขัน
จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน (จุดแข็งและจุดอ่อน) และสภาพแวดล้อมภายนอก (โอกาสและอุปสรรค) สามารถแสดงเป็นตาราง SWOT ได้ดังนี้ (สมยศ นาวีการ. 2546 : 80 – 81)
ตารางแสดงการวิเคราะห์ SWOT
ปัจจัยภายใน
ปัจจัยภายนอก
|
S = ระบุจุดแข็งภายใน
|
W = ระบุจุดอ่อนภายใน
|
O = ระบุโอกาสภายนอก
|
SO = ยุทธศาสตร์เชิงรุก
|
WO = ยุทธศาสตร์เชิงพัฒนา
|
T = ระบุอุปสรรคภายนอก
|
ST = ยุทธศาสตร์เชิงรับ
|
WT = ยุทธศาสตร์เชิงถอย
|
ตาราง SWOT ชี้ให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ทางเลือกขององค์การจะมีอยู่ 4 อย่าง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วอาจจะดำเนินยุทธศาสตร์ผสมกันได้ (สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. 2546 : 34 – 35)
ยุทธศาสตร์เชิงรุก (SO Strategies) เมื่อผลของการพิจารณาปัจจัยที่เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จทั้งสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกอยู่ในช่องจุดแข็งและโอกาส (O) เป็นยุทธศาสตร์เพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เมื่อผู้ดำเนินการมีจุดแข็งและโอกาสเอื้ออำนวย
ยุทธศาสตร์เชิงพัฒนา (WO Strategies) เมื่อปัจจัยแห่งความสำเร็จของสภาพแวดล้อมภายในไปอยู่ในช่องจุดอ่อน (W) แต่ปัจจัยแห่งความสำเร็จของสภาพแวดล้อมภายนอกอยู่ในช่องโอกาส (O) เป็นยุทธศาสตร์ที่ปรับจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง เพื่อให้สามารถดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุกได้เมื่อโอกาสเอื้ออำนวยแต่ผู้ดำเนินการมีจุดอ่อน
ยุทธศาสตร์เชิงรับ (ST Strategies) เป็นยุทธศาสตร์ที่ปรับอุปสรรคให้เป็นโอกาสเพื่อให้ดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุกได้ หากผู้ดำเนินการมีจุดแข็งแต่โอกาสไม่เอื้ออำนวยให้เนื่องจากปัจจัยแห่งความสำเร็จของสภาพแวดล้อมภายในอยู่ในช่องจุดแข็ง (S) แต่ปัจจัยแห่งความสำเร็จของสภาพแวดล้อมภายนอกในช่องอุปสรรค (T)
ยุทธศาสตร์เชิงถอย (WT Strategies) เป็นยุทธศาสตร์ที่ปรับการดำเนินงานเพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ไปเป็นรูปแบบอื่น เนื่องจากปัจจัยแห่งความสำเร็จของสภาพแวดล้อมภายในอยู่ในช่องจุดอ่อน (W) และปัจจัยแห่งความสำเร็จของสภาพแวดล้อมภายนอกอยู่ในช่องอุปสรรค (T)
ข้อพิจารณาในการตัดสินใจเลือกยุทธศาสตร์
ในการตัดสินใจเลือกยุทธศาสตร์ใด ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงบรรทัดฐานและเงื่อนไขบางประการดังต่อไปนี้ (ปกรณ์ ปรียากร. 2546 : 155 – 156 และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. 2546 : 51)
1) บรรทัดฐานหลัก
- ต้องตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมภายนอก
- ต้องคำนึงถึงการรักษาสถานภาพและความได้เปรียบในการแข่งขัน
- ในแต่ละด้านที่กำหนดต้องมีความสอดคล้องกัน
- ต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่น
- ต้องสอดคล้องกับภารกิจและวัตถุประสงค์
- ต้องมีความเป็นไปได้ในการดำเนินงาน
2) เงื่อนไขที่ต้องพิจารณา
- ความเพียงพอของทรัพยากรโดยเฉพาะทางการเงิน
- ทัศนคติในเชิงบวก
- สมรรถนะขององค์การโดยรวม
ความว่องไวในการตอบโต้หรือโต้กลับในสถานการณ์ที่นอกเหนือความคาดหมาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น